วัยหนุ่ม ของ พระครูวรนาถรังษี (ปุย ปุญฺญสิริ)

ราว พ.ศ.2453 - 2454 หลังหลวงปู่เฒ่าพลายมรณภาพ จึงออกจากวัดเกาะ กลับไปอยู่บ้านเพื่อช่วยครอบครัวประกอบอาชีพ ทำหน้าที่เป็นโคบาล เลี้ยงโค กระบือ

สมัยนั้นพื้นที่แถบนี้ยังมีสภาพเป็นป่าดงพงดิบ มีสัตว์ร้ายนานาชนิด หลายครั้งเกิดเหตุการณ์สัตว์เลี้ยงของเพื่อนบ้านถูกเสือคาบไป ต้องช่วยตามหาเข้าไปในป่าลึก ผจญภัยกับสัตว์ร้ายหรือเรื่องราวอาถรรพ์ จึงนำความรู้ที่ศึกษามาช่วยเหลือชาวบ้านให้ผ่านพ้นปัญหาได้ด้วยดี[3]

ยามว่างชอบฝึกจิต ฝึกกรรมฐานในป่าช้า ป่าอาถรรพ์ ดินแดนลี้ลับ เช่น ท่ายายเภา ซึ่งชาวบ้านเกรงกลัวมาก มีความเชื่อว่าเป็นเมืองลับแล เคยมีคนถามท่านว่า "ไม่กลัวผี ไม่กลัวตายหรือ" ท่านตอบกลับว่า "กลัวเขาทำไม เขาอยากพบ อยากเจอเราด้วยซ้ำไป จึงต้องไปโปรดเขา แผ่ส่วนกุศลให้ เขาจะได้ไปเกิดได้" ท่านทำเช่นนี้อยู่หลายปี กระทั่งบวชเป็นพระภิกษุแล้ว จึงไม่มีผู้ใดพบเจอเรื่องราวอาถรรพ์ที่ท่ายายเภาอีกเลย[4]

พ.ศ.2456 ร่วมกับคณะศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ (เจ้าคณะหมวดบ้านคอย เจ้าอาวาสวัดราษฎรบำรุง) และชาวบ้านในพื้นที่ตำบลบ้านคอย ตำบลบางงาม ช่วยทางราชการดำเนินการแผ้วถางป่า ทำถนน ขุดสระน้ำ และสร้างพลับพลา รองรับการเสด็จของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 6) ในการเสด็จบวงสรวงและสมโภชเจดีย์ยุทธหัตถี ที่บ้านดอนทำพระ ตำบลบ้านคอย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งเข้าร่วมรับเสด็จในระยะห่าง

ด้วยมีลักษณะร่างกายกำยำ แข็งแรง เป็นคนมีวิชาความรู้ ความคิดโตเกินวัย มีน้ำใจ กล้าหาญ กล้าได้กล้าเสีย มนุษยสัมพันธ์ดี เป็นที่นับถือของชาวบ้าน ส่งผลให้เป็นผู้กว้างขวาง มีพรรคพวกจำนวนมาก และได้รับยกย่องให้เป็นหัวหน้า (ลูกพี่) โดยถือคติว่า ไม่สร้างความเดือดร้อน ไม่รังแกผู้ใด แต่ใครจะมารังแกไม่ได้

รู้จักกับนักเลงแถบตัวเมืองสุพรรณบุรี คือ นายแต้ม (ภายหลังบวชเป็นพระภิกษุ คือ พระครูประภัศร์ธรรมาภรณ์ (แต้ม ปุญฺญสุวณฺโณ) วัดพระลอย) เคยมากินนอนเที่ยวเล่นในพื้นที่แถบนี้ เมื่อบวชเป็นพระภิกษุจำพรรษาที่วัดราษฎรบำรุง ช่วงปี พ.ศ.2457 - 2461[5] เป็นลูกศิษย์พระใบฎีกาอินทร์ ครูบาอาจารย์เดียวกัน จึงทำให้ทั้งสองชอบพอ ไปมาหาสู่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกันตลอดมา

ภาพถ่าย หลวงพ่อปุย ลงลายมือ เขียนคติธรรม พ.ศ.2472